ประวัติโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี |
ประวัติ โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี

เมื่อปี พ.ศ. 2445 มีการตั้งหน่วยทหารขึ้นที่บริเวณวัดป่ารวก ตำบลหัวเวียง จังหวัดลำปาง โดยทราบกันในนามหน่วยว่า "กรมทหาร" ซึ่งมีเจ้าหน้าที่และกิจการเสนารักษ์ ทำหน้าที่บริการทางการแพทย์ให้แก่ทหารและ ครอบครัวที่สังกัดกรมทหารนั้น ปี พ.ศ. 2448 มหาอำมาตย์โท พลตรีเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง สละที่ดินส่วนตัวที่เป็น บริเวณเนินที่เรียกว่าม่อนไก่เขี่ย (ปัจจุบันเรียกว่า ม่อนสันติสุข) ให้เป็นที่ตั้งใหม่ อันเป็นที่ตั้งของ ค่ายสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 - พ.ศ. 2459 ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าหน่วย แพทย์มีสภาพและการจัดหน่วยอย่างไร ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2468 หน่วยทหาร มีสภาพเป็น กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 ปรากฏหลักฐานว่า มีการ จัดหมวดเสนารักษ์ โดยตั้งอยู่ที่บริเวณมุมค่ายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อให้บริการ ทางการแพทย์แก่หน่วยทหารในขณะนั้น
|  |
ในปี พ.ศ. 2493 มีการจัดตั้งกองพลที่ 7 และมณฑลทหารบกที่ 7 ขึ้นที่จังหวัดลำปาง ส่วนกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 14 แปรสภาพเป็น กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 7 ทำให้ หมวดเสนารักษ์ มีกำลังพลไม่เพียงพอ ที่จะสนับสนุนการรักษาพยาบาลและส่งกลับได้ทั้งหมด จึงได้จัดตั้งหน่วยแพทย์ ์ขึ้นใหม่อีกหน่วยหนึ่ง เป็นกองเสนารักษ์ให้บริการแก่กำลังพลของกองพลที่ 7 และมณฑลทหารบกที่ 7 และบรรจุแพทย์เป็นผู้บังคับกอง เรียกนามหน่วยว่า กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 7
| |
ต่อมาหมวดเสนารักษ์ ได้รับการจัดหน่วยใหม่ ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองร้อยเสนารักษ์ กรมผสมที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่ มีภารกิจ สนับสนุนบริการทางการแพทย์แก่กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 7 ซึ่งยังคงตั้งหน่วยอยู่ที่จังหวัดลำปางเหมือนเดิม โดยเหตุนี้แม้ว่าหมวดเสนารักษ์ดังกล่าวจะไม่รายงานขึ้นตรงต่อกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 7 แต่เมื่อตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ก็ต้องร่วมปฏิบัติงานในด้านการรักษาพยาบาลร่วมกันในสภาพเสนารักษ์รวม
ปี พ.ศ. 2499 กองทัพบกมีคำสั่งยุบเลิกกองพลที่ 7 เหลือเพียงแต่มณฑลทหารบกที่ 7 กองเสนารักษ์จึงแปรสภาพเป็น กองพยาบาล รับผิดชอบการรักษาพยาบาลและส่งกลับผู้ป่วยในที่ตั้งปกติ และเมื่อมณฑลทหารบกที่ 7 มีการขยายอัตรากำลังพล จึงปรับสภาพกองพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาล โดยจัดสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้ 1. ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเดิมที่มีอยู่ก่อน และแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานให้แก่แผนกต่างๆ 2. สร้างเรือนผู้ป่วยใน 1 หลัง สำหรับผู้ป่วย ทางอายุรกรรม , ศัลยกรรม และสูติ-นรีเวชกรรม โดยใช้ทุน O.I.C.C. 3. สร้างโรงที่พักทหาร 1 หลัง และแบ่งพื้นที่บางส่วนให้เป็นที่ปฏิบัติ งานของแผนกคลัง,ห้องฝึกอบรมพลทหาร และหมวดเสนารักษ์กองพันทหารราบที่ 2 4. สร้างตึก ขนาดย่อม 1 หลัง สำหรับการผ่าตัดและเอ๊กซเรย์ โดยใช้เงินบริจาคของ นาย น้อย คมสัน คหบดีชาวลำปางร่วมกับบุคคล ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดลำปางซึ่งให้ชื่ออาคารนี้ว่า " ตึกคมสัน " 5. ดัดแปลงอาคารในข้อ 1 เป็นห้องตรวจโรค ผู้ป่วยนอก โดยเงินบริจาคของ พันตรี ปชา ศิริวรสาร ( ยศในขณะนั้น ) 6. สร้างโรงประกอบอาหาร และ โรงเลี้ยง 1 หลัง 7. สร้างอาคารไม้สำหรับเป็นที่ปฏิบัติงานของ หมวดบริการ , สูทกรรม และโรงรถ
|  | ด้วยเหตุนี้ สภาพกองพยาบาลจึงเปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลมณฑลทหารที่ 7 และตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยแพทย์แห่งนี้ใช้คำว่า " ผู้อำนวยการ " ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2509 ได้รับการแต่งตั้งชื่อใหม่ว่า " โรงพยาบาลสุรศักดิ์มนตรี " ปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลกองทัพบกต่าง ๆ ให้ มีคำนำหน้าว่า "ค่าย" จึงเรียกหน่วยว่า "โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี"
ปี พ.ศ. 2520 สร้างห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกขึ้นใหม่แทนห้องเดิม ซึ่งคับ แคบไม่สามารถรองรับปริมาณคนไข้นอก ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลในการก่อสร้างเนื่องจากอาคารของโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จะทำการต่อเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยก็ทำไม่ได้ เพราะมีอาณาบริเวณจำกัด
ปี พ.ศ. 2527 กองทัพบกได้อนุมัติโครงการก่อสร้าง โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี เป็นจำนวนเงิน 60 ล้านบาท
|  | ปี พ.ศ. 2529 โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีเสร็จสมบูรณ์โดยมีที่ตั้งใหม่อยู่ติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง - งาวตรงกันข้าม กับกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 7 ต. พิชัย อ. เมือง จ. ลำปาง
|  |
วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ได้ย้ายการปฏิบัติงานจากที่ตั้งเดิมไปยังสถานที่ตั้งใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งปัจจุบัน โดยตัวอาคาร มีลักษณะเดียวกับโรงพยาบาลชุมชนของสาธารณสุข สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 100 คน / วัน มีเตียงรับผู้ป่วยได้ 60เตียง เมื่อเปิดให้บริการแล้วปรากฏมี ข้าราชการพลเรือนและประชาชนชาวลำปางมาเข้าร่วมรับบริการด้วย โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี จึงเป็นสถานพยาบาลสำหรับทหารและครอบครัว เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของชาวลำปาง ซึ่งนับวันจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดความแออัด ในส่วนบริการผู้ป่วยนอก และเตียงรับผู้ป่วยในก็ไม่พอเพียง
|  | ปี พ.ศ. 2538 โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีดำเนินโครงการรณรงค์หาเงินบริจาคสร้างอาคารใหม่ เพื่อขยายพื้นที่อาคารตรวจโรคผู้ป่วยนอก เพิ่มเตียงรับผู้ป่วยใน รวมทั้งดัดแปลงอาคารเดิมเชื่อมต่อกับอาคารใหม่ และตกแต่งภายใน โดยได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งใช้เงินรายรับของสถานพยาบาลเอง ในระยะเวลาดังกล่าวเป็นห้วงที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต ประชาชน ผู้บริจาค จึงได้ถือโอกาสถวายเป็นพระราชกุศล จึงถือว่าอาคารใหม่สร้างขึ้นได้ จากความร่วมมือร่วมใจของประชาชน และส่วนราชการ โดยได้พระบารมีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทำให้เกิดความสำเร็จขึ้นได้ โครงการสร้างอาคารใหม่แห่งนี้ ได้ชื่ออาคารว่า " อาคารอุบัติเหตุ "
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารอุบัติเหตุอย่างเป็นทางการ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ แก่โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตลอดจนข้าราชการมณฑลทหารบกที่ 32 และประชาชนในจังหวัดลำปางอย่างล้นพ้น
|  | ปี พ.ศ. 2544 พันเอกมงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เห็นว่าโรงพยาบาลต้องรองรับปริมาณผู้ป่วยโรคกระดูกมากขึ้น ห้องทำกายภาพบำบัดคับแคบอีกทั้งมีเครื่องมือไม่เพียงพอ จึงรณรงค์หาเงินบริจาคเพื่อสร้างอาคารกายภาพบำบัด รวมทั้งดำเนินการขออนุมัติพื้นที่และแบบแปลน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2547 โดย พันเอกนิวัฒน์ บุญยืน และ พันเอกสิทธิชัย จิตสมจินต์ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล
|  | ปี พ.ศ. 2548 กองทัพบกอนุมัติการก่อสร้าง " อาคารกายภาพบำบัด " มูลค่าก่อสร้าง 13,510,000 บาท โดยอนุมัติให้ก่อสร้างบนพื้นที่ของหน่วยหมวดซ่อมบำรุง สรรพาวุธ 2 กองสรรพาวุธเบา กองพลทหารราบที่ 4 ซึ่งย้ายที่ตั้งไปยังจังหวัดทหารบกพะเยา ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน ( 28 มกราคม 2548-22 มกราคม 2549 ) เปิดให้บริการกายภาพบำบัด ฝังเข็มและศูนย์ออกกำลังกาย
|  |
ปี พ.ศ. 2558 กองทัพบกอนุมัติการก่อสร้าง " อาคารผู้ป่วยนอก 4 ชั้น " ใช้งบรายรับของสถานพยาบาล ประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้กับกำลังพลและครอบครัวของหน่วยทหาร รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มารับบริการเพิ่มขึ้นทุกปี มูลค่าการก่อสร้าง 79,750,000 บาท โดยอนุมัติให้ก่อสร้างเชื่อมต่อกับอาคารผูป่วยนอกหลังเดิม ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน ( 27 ส.ค.58 - 22 ส.ค.59 ) ชั้นที่ 1 เปิดให้บริการห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกและห้องรังสีกรรม ชั้นที่ 2 เปิดให้บริการห้องผ่าตัด ชั้นที่ 3 เปิดให้บริการหอผู้ป่วยอาการหนักและห้องไตเทียม ชั้นที่ 4 เปิดให้บริการกองสูตินรีเวชกรรม
|  |
ปัจจุบันโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีมีอาคารบริการผู้ป่วยทั้งหมด 6 อาคาร ได้แก่ 1. อาคารอุบัติเหตุ 2. อาคารบริการผู้ป่วย - อาคารหอผู้ป่วย และอาคารบริการ ผู้ป่วยสูติ-นรีเวชกรรม 3. อาคารบริการและสำนักงาน 4. อาคารกายภาพบำบัด 5. อาคารแพทย์ทางเลือก 6. อาคารผู้ป่วยนอกใหม่ 4 ชั้น (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง27 ส.ค.58 - 22 ส.ค.59)
ทั้งหมดออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยมีช่องแสงหลายทาง มีประตูทางออกหลายทาง มีความโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศได้มาก มีทางเดินเชื่อมต่อกันอย่างสะดวกอาณาบริเวณมีความสวยงามร่มรื่น
นับจากการปรับสภาพกองพยาบาลให้เข้าลักษณะโรงพยาบาล โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีมีการพัฒนาทางด้านกายภาพและคุณภาพการบริการมาโดยตลอด จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานผู้บังคับบัญชาและผู้ใช้บริการ ทั้งที่เป็นกำลังพลทหารและครอบครัว ข้าราชการพลเรือนและประชาชนทั่วไปเข้ารับบริการ อีกทั้งให้การสนับสนุนกิจกรรมของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีคนปัจจุบัน คือ พันเอกอรรณพ ธรรมลักษมี |
|